ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็ล้วนแต่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทางตรง หรือทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกร ไปจนถึงผู้ที่ทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม ต้องใกล้ชิดอยู่กับสารเคมีอยู่ตลอดเวลา ในความเป็นจริง สารเคมีที่กระเด็นมาสัมผัสกับผิวหนังของเราจะมีปริมาณน้อย แต่หากสะสมมากเข้าก็อาจทำให้เกิด ‘โรคผิวหนังจากสารเคมี‘ ได้ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราอีกทางหนึ่งด้วย
รู้จักกับ โรคผิวหนังจากสารเคมี
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า โรคผิวหนังที่เกิดจากสารเคมี นั้นเป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้ที่ทำงานก่อนสร้าง ลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม และเกษตรกร เพราะในปัจจุบันนี้มีการใช้งานวัสดุและสารเคมีที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังแพร่กระจายอยู่ทั่วไป เมื่อมีการใช้งานที่ไม่เหมาะสม หรือปล่อยให้สารเคมีเหล่านั้นมาสัมผัสกับผิวหนังโดยตรงแบบไม่มีสิ่งป้องกัน ก็จะทำให้เกิดการระคายเคือง มีผื่นคันภูมิแพ้ที่ผิวหนัง จนนำไปสู่การเกิดโรคผิวหนังได้
4 อาชีพที่เสี่ยงเกิดโรคผิวหนังจากสารเคมี
- คนงานในโรงงานที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับโลหะ , เครื่องหนัง , กาวพลาสติก , ยางสีย้อมผ้า , สีพ่น , เส้นใยแก้ว รวมไปถึงน้ำมันเบนซินและน้ำมันเครื่อง
- คนงานก่อสร้างที่ต้องผสมปูนซีเมนต์
- คนงานที่ต้องสัมผัสกับอุปกรณ์ที่ทำจากโลหะชุบนิเกิล , งานอุตสาหกรรมเครื่องหนัง , ดอกไม้พลาสติก
- เกษตรกรที่ต้องใช้ปุ๋ยที่เป็นมีส่วนผสมของสารกำจัดแมลงและศัตรูพืช
จะป้องกัน ‘โรคผิวหนังที่เกิดจากสารเคมี’ ได้ยังไง ?
นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ได้กล่าวถึงเกี่ยวกับโรคนี้ว่า โดยปกติแล้วโรคผิวหนังจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง มีผื่นคัน เป็นๆ หายๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาทางร่างกายและจิตใจ หากต้องใกล้ชิดอยู่กับสารเคมีตลอดเวลา แนวทางการป้องกันที่เห็นผล ได้แก่ หยุดสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคือง หรือสิ่งที่ทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบขึ้นได้ อาจเลือกใช้สารเคมีที่มีความเข้มข้นน้อยกว่า หรือปรับปรุงวิธีการทำงานให้มีโอกาสสัมผัสกับสารเคมีต่างๆ ให้น้อยที่สุด หมั่นทำความสะอาดพื้นบริเวณที่ทำงานอยู่เป็นประจำ อีกทั้ง แนะนำให้ใช้ครีมทามือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระคายเคือง เพื่อช่วยให้การทำความสะอาดเป็นไปได้ง่าย นอกจากนั้น ก็อาจใช้ครีมที่ช่วยให้ความชุ่มชื้นเพื่อลดความแห้งตึงของผิว หากมีบาดแผล ต้องรีบทำความสะอาดและปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลที่สะอาด
ไม่ใช่คนธรรมดา แต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ต้องระวังเป็นพิเศษ ให้สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันสารเคมีก่อนเริ่มปฏิบัติงาน อาทิ สวมถุงมือที่ทำจากวัสดุพีวีซียาง สวมชุดป้องกัน หรือใช้ผ้ากันเปื้อน ควรเลือกอุปกรณ์สำหรับใช้งานที่เหมาะสม หากมีอาการแพ้ หรือเกิดผื่นคันขึ้นตามผิวหนังให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรับการรักษาจนหายเป็นปกติ